ภาวะอารมณ์เศร้า หรือ ซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) จะเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงวัยในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งเป็น 2 แบบคือ อาการซึมเศร้าที่มาก่อนวัยสูงอายุและที่เกิดขึ้นในวัยที่สูงอายุแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียวหรือสูญเสียคนที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะมากขึ้น
ซึ่งอาการเศร้าจะมีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย ไปถึงรุนแรงมากจนมีอาการจิตเวชร่วมด้วย แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ หากมีการถูกปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ดังนั้นคนในครอบครัวต้องคอยสังเกตอาการ รู้ถึงสาเหตุและทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มาก เพื่อให้คนที่เรารักผ่านพ้นโรคนี้ไปให้ได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีสาเหตุมาจาก พันธุกรรม ลักษณะนิสัย รวมกันสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคซึมเศร้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ด้านร่างกาย
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เกิดจากการสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้อารมณ์ผิดปกติเสียสมดุล ซึ่งจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย หรือการเจ็บป่วย แม้จะไม่ส่งกระทบต่อสมองโดยตรง แต่ก็ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เครียด และเป็นกังวลได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน และโรคมะเร็ง
2. ด้านจิตใจ
เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงาน ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว จนทำให้ผู้สูงอายุเหงา รู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็มักจะทำใจไม่ได้ เกิดความรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของการเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่คนในครอบครัวไม่สนใจ ไม่มีสังคม หรือเพื่อนคุย ก็ส่งผลให้สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้
อาการเตือนภาวะซึมเศร้า
1. อารมณ์เปลี่ยนไป เช่น เป็นคนอารมณ์ดีก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดง่าย ขี้บ่น ไม่มีเหตุผล หรือสนใจในสิ่งที่เคยชอบลดลง
2. รู้สึกตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิต พูดน้อยลง เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินยา น้ำหนักลด
3. มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นกลางดึก
4. ความจำไม่ดี สมาธิสั้นลง
5. มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากทำร้ายตัวเอง หรือมีคำพูดที่ว่า “ไม่อยากอยู่ ตายๆไปได้ก็ดี” ไม่มีพลังงาน ทำอะไรช้า อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ
วิธีรักษาภาวะซึมเศร้า
1. รักษาทางจิตใจ
การรักษาวิธีนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้สูงอายุ โดยการให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา บำบัดจิต ปรับวิธีคิด และปรับทัศนคติทางลบให้ดีขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เข้ามามากขึ้น
2. การรักษาโดยการใช้ยา
การรักษาวิธีนี้จะทำให้อาการดีขึ้นเร็ว แต่อาจจะส่งผลข้างเคียงด้านอื่นๆ ซึ่งยารักษาโรคซึมเศร้าจะมีหลายกลุ่ม ซึ่งการใช้ยาต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง หากซื้อยามาทานเองอาจไม่เหมาะกับร่างกายผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาได้
วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุภาวะซึมเศร้า
1. เอาใจใส่ดูแล และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยพูดคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น
2. เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารพิษ ให้ไกลมือผู้ป่วย
3. ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้เพียงลำพัง ควรมีคนดูแลอยู่เสมอ
4. ไม่ควรปรับลดหรือเพิ่มยาเอง
5. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ